วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ปวดคอ…สาเหตุของโรคกระดูกคอเสื่อม



อาการปวดคอร้าวไปที่สะบักและไหล่ บางทีก็มีอาการปวดร้าวไปที่แขนเป็นโรคที่พบบ่อยมากในวัยกลางคน และในวัยสูงอายุซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากการเสื่อมของกระดูกคอ

โครงสร้างของกระดูกคอและหน้าที่
กระดูกสันหลังส่วนคอนั้นประกอบด้วยกระดูกอ่อนคั้นอยู่ หมอนรองกระดูกเป็นกระดูกอ่อนชนิดพิเศษจะมีความยืดหยุ่นสามารถทำให้คอมีความยืดหดหรือเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆกัน ดังนั้นกระดูกคอมีหน้าที่สำคัญที่ทำให้ศีรษะสามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆกันตามที่เราต้องการ เช่น ก้มหรือเงยศีรษะ หันหน้าไปทางซ้ายหรือขวา หรือเอียงศีรษะไปทางซ้ายหรือขวา นอกจากนี้กระดูกคอยังทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักศีรษะไว้ตลอดเวลา ซึ่งน้ำหนักของศีรษะและคอรวมกันประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ภายในกระดูกคอจะมีประสาทไขสันหลังอยู่ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ไปทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขนและขา

อาการของกระดูกคอเสื่อม
เมื่ออายุย่างเข้าวัยกลางคนคือ 30 ปีขึ้นไปหมอนรองกระดูกซึ่งเป็นกระดูกอ่อนจะเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมตัวคือองค์ประกอบที่เป็นน้ำที่ทำให้เกิดการยืดหยุ่นในตัวของหมอนรองกระดูกคอจะลดลงไปทำให้คุณสมบัติในการยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกเสียไป ทำให้กระดูกคอปล้องที่หมอนรองกระดูกมีการเคลื่อนไหวไปในลักษณะที่ไม่ราบเรียบเป็นปกติ ถ้าเราไม่ระมัดระวังปล่อยให้กระดูกคอเคลื่อนไหวมากเกินขอบเขตก็จะทำให้เกิดการชำรุดของหมอนรองกระดูกคอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลทำให้ข้อต่อของกระดูกคอปล้องนั้นๆเสียไป

อาการเริ่มต้นของหมอนรองกระดูกคอเสื่อมคือจะมีอาการปวดคอและคอแข็งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตกหมอน” บางทีก็มีอาการปวดตื้อๆ ลึกๆ ที่บริเวณสะบัก ที่ชาวบ้านเรียกว่า “สะบักจม” อาการทั้งสองอย่างนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าหมอนรองกระดูกคอเริ่มมีอาการเสื่อมตัวแล้ว ถ้าการเสื่อมตัวของหมอนรองกระดูกคอมากขึ้นก็จะมีการทรุดตัวของหมอนรองกระดูกคอมากขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างกระดูกคอแคบลง และมีกระดูกงอกตามขอบของข้อต่อกระดูกคอ ที่เรียกว่า “กระดูกงอก” หรือ “หินปูนเกาะ” มีผลทำให้เกิดการตีบแคบของช่องประสาทที่ผ่านลงไป เมื่อตีบแคบถึงระดับหนึ่งก็จะเกิดการกดทับเส้นประสาท และประสาทไขสันหลัง ถ้าเป็นการกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้เกิดการปวดร้าวลงไปตามแขนจนถึงนิ้วมือ ถ้ากดมากๆ จะทำให้เกิดอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ถ้ามีการกดประสาทไขสันหลังก็จะทำให้เกิดอาการเกร็ง

แนวทางการรักษา
ในระยะเริ่มต้นของหมอนรองกระดูกเสื่อมให้การรักษาทางยา และกายภาพบำบัด คือหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของกระดูกคอมากเกินไป อาจจะต้องให้นอนพักหรือมีการถ่วงดึงคอ ให้ยาลดการอักเสบและแก้ปวด บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงเพื่อช่วยแบกรับน้ำหนักศีรษะไม่ให้ผ่านกระดูกคอมากเกินไป อาจจะให้ใส่เครื่องพยุงคอ (Cervical collar) เพื่อช่วยเตือนให้คออยู่ในลักษณะปกติ
ลักษณะการนอน ควรใช้หมอนนิ่มๆมีส่วนรองรับกระดูกคอให้อยู่ในลักษณะปกติ หมอนจะต้องไม่สูงเกินไป ถ้าไม่หนุนหมอนเลยก็ไม่ได้ เพราะไม่มีส่วนรองรับคอ (กระดูกคอปกติจะต้องโค้งไปทางด้านหน้าเล็กน้อย) เมื่อกระดูกคอมีการเสื่อมตัวมากแล้วและมีการกดทับเส้นประสาท หรือประสาทไขสันหลังแล้ว การรักษาทางยา และกายภาพบำบัดจะไม่ได้ผล จะต้องให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัด

การผ่าตัด
การผ่าตัดที่ได้ผลดีแน่นอน คือการผ่าตัดเชื่อมกระดูกคอปล้องที่เสื่อม โดยเอาหมอนรองกระดูกที่เสื่อม พร้อมกับกระดูกงอกที่ขอบๆของข้อต่อออก แล้วทำให้ช่องประสาทกว้างขึ้น โดยเอากระดูกเชิงกรานไปใส่แทนหมอนรองกระดูกที่ถูกขูดออกไป
ถ้ากระดูกคอมีการเสื่อมตัวหลายๆปล้อง และมีกระดูกงอกมายึดเชื่อมกันเองแล้ว แต่มีการตีบแคบของช่องประสาทมาก ก็ทำผ่าตัดไปขยายช่องประสาท ไขสันหลังให้กว้างออกไป (Laminoplasty)
ปัจจุบันมีการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกเทียม (disc prosthesis) มาใส่แทนหมอนรองกระดูกคอที่เสื่อมไปแล้ว ซึ่งการใช้หมอนรองกระดูกเทียมมีขอบเขตจำกัดมาก และผลยังไม่เป็นที่ยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่และที่สำคัญคืออาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากจนถึงกับเป็นอัมพาตไปได้

การปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้กระดูกคอเสื่อมเร็วเกินไป
กระดูกคอก็เหมื่อนอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย จะต้องมีการเสื่อมตัวไปตามอายุ แต่มีข้อแนะนำเพื่อชะลอการเสื่อมตัวของกระดูกคอหรือไม่ให้เสื่อมตัวเร็วเกินไป ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยๆ
2. การนั่งทำงาน นั่งอ่านหนังสือหรือนั่งเขียนหนังสือควรให้คออยู่ในลักษณะตรงปกติอย่าก้มคอมากเกินไป
3. การนอนควรใช้หมอนหนุนศีรษะโดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ
4. บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงสม่ำเสมอ
5. หลีกเลี่ยงการทำงานโดยแหงนคอเป็นเวลานานๆบ่อยๆ
6. หลีกเลี่ยงการรักษาโดยวิธีการดัดคอหรือบิดหมุนคอ

credit : pooyingnaka.com