วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

งาน...เครียด สู่โรคหัวใจ ภัยคุกคามใกล้ตัว



ถ้าจะพูดถึงโรคร้ายที่คร่าชีวิตประชากรโ7ลกในอันดับต้นๆ “โรคหัวใจ” จะต้องถูกหยิบยกออกมาพูดถึงกันอยู่เสมอ โรคหัวใจเป็นโรคที่หลายคนรู้จักชื่อกันเป็นอย่างดี แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการใช้ชีวิตประจำวัน ของเราเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจแค่ไหน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนทำงานในปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความเครียด อยู่บ่อยครั้ง แล้วจะมีวิธีกำจัดความเครียดได้อย่างไร ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนนทเวชมีวิธีที่ช่วยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจที่เกิดจากความเครียดได้

โรคหัวใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจโต ลิ้นหัวใจโตผิดปกติหรืออาจเกิดจากเยื่อหุ้มหัวใจมีความผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ความเครียด สูบบุหรี่และดื่มสุราจัด แต่ที่จะพบได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีอัตราเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 คนต่อ 1 ชั่วโมง เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหัวใจวายเฉียบพลัน ที่สำคัญที่สุดผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคดังกล่าว เนื่องจากโรคนี้มักไม่แสดงอาการ สำหรับอาการบ่งชี้โดยทั่วไปมักมีอาการ จุกเสียด เจ็บแน่นหน้าอกหรือบริเวณลิ้นปี่ เหนื่อยง่าย แขนขาบวม นอนราบไม่ได้ ใจสั่น บางครั้งอาจหมดสติได้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะพบในเพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไปหรือเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่สำหรับความเครียดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้

ทุกวันนี้ความเครียดก็ส่งผลให้ผู้คนเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน ผู้บริหาร ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ที่จะใช้เวลาอยู่กับงานค่อนข้างมาก เผชิญกับความเครียด ไม่มีเวลาพักผ่อนและ ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ น้ำหนักตัวมากขึ้นจนเพิ่มภาระให้กับหัวใจ และอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน เมื่อความเครียดเกิดขึ้นร่างกายจะสร้างสารที่เรียกว่า “อะดรีนาลิน (ADRENALINE) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบตัว เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ อาจก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง และเพิ่มปริมาณไขมันในเลือดให้สูงขึ้น

วิธีกำจัดความเครียดด้วยวิธีง่ายๆ คือ
- หาวิธีพักผ่อนหย่อนใจ ไปท่องเที่ยว ดูหนัง ออกกำลังกาย พูดคุยกับเพื่อนสนิท
- คิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นและถามความรู้สึกตัวเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่คอยให้กำลังใจได้ตลอดเวลา

อย่าลืมว่าโรคหัวใจไม่ใช่โรคไกลตัวอีกต่อไป นอกเหนือจากการรักษาสุขภาพกายให้สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว สุขภาพใจก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ห่างไกลโรคได้ แล้วหัวใจที่แข็งแรงจะอยู่กับเราไปอีกนาน

ที่มา โรงพยาบาลนนทเวช

credit : pooyingnaka.com