วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

โรคซึมเศร้า



"เอ" หญิงไทยวัย 40 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะและนอนไม่หลับ หลังจากแพทย์ได้ตรวจร่างกายอย่างละเอียดไม่พบความผิดปกติใด ๆ และกำลังจะสั่งยา เอก็เริ่มร้องไห้และเล่าว่าเธอกำลังมีปัญหาครอบครัว แพทย์จึงได้แนะนำให้เธอมาพบจิตแพทย์

หลังจากเอได้คุยกับจิตแพทย์นานประมาณครึ่งชั่วโมง ทำให้เข้าใจว่าอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เธอนอนไม่หลับและมีอาการปวดศีรษะ นอกจากอาการดังกล่าวแล้วยังพบว่าเอมีอาการอื่นๆ มากกว่านั้น เช่น อารมณ์เศร้า ร้องไห้คนเดียวเกือบทุกคืนมากว่า 2 สัปดาห์ เอเหนื่อยไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหารจนน้ำหนักลด 3-4 กิโลกรัม ใน2-3 เดือนที่ผ่านมา ท้อแท้ จนบางครั้งคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เธอรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เพราะสามีที่แต่งงานกับเธอมากว่า 10 ปี จนมีลูกด้วยกัน 2 คน กำลังนอกใจเธอ กลับบ้านดึก ไม่สนใจเธอกับลูกเหมือนก่อน

เอได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้า และได้รับการรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าและการทำจิตบำบัดแบบประคับประคอง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3 สัปดาห์ผ่านไปเธอเริ่มดีขึ้น นอนหลับได้ รับประทานอาหารได้ อารมณ์แจ่มใสขึ้น มีสมาธิสามารถทำงานได้เหมือนก่อน และรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า โดยเฉพาะกับลูกที่น่ารักทั้ง 2 คนของเธอ

หลังจากนั้น สามีเธอมาพบจิตแพทย์ด้วยได้พูดคุยยอมรับในความผิดพลาด และรับปากจะเลิกกับผู้หญิงอีกคนให้เด็ดขาด โดยบอกว่าช่วงหนึ่งเวลาที่ทั้งคู่มีให้กันเริ่มน้อยลง จากที่ทั้งคู่ต้องทำงานและดูแลลูก จนลืมดูแลตัวเองและคนรักไป

สถานการณ์ในครอบครัวเริ่มดีขึ้น จนกลับมามีความสุขเหมือนเดิม เอรับประทานยาตามที่จิตแพทย์สั่งจนครบ 6 เดือน ระหว่างรักษาเธอเปลี่ยนความคิดและ พฤติกรรมหลายอย่าง รวมทั้งมีการควบคุมอารมณ์ ที่ดีขึ้น
..........

นี่คือตัวอย่างผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนหนึ่ง หลายคนอ่านคงสงสัยว่าทำไมหมอถึงเอาเรื่องของตนเองมาเขียนไม่ต่องตกใจครับนี่เป็นเรื่องปกติที่หมอ พบคนไข้ลักษณะนี้แทบทุกวันในการทำงาน และกรณีก็คล้ายๆกันแบบนี้ อาจแตกต่างที่รายละเอียดปลีกย่อยไปบ้าง

เมื่อเป็นเรื่องที่พบบ่อยเช่นนี้ จะทำอย่างไรดี จึงจะป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า หรือไม่เป็นซ้ำในรายที่เคยเป็นและหายแล้ว การรู้จักโรคซึมเศร้าและรู้จักวิธีป้องกันตัวที่ดีน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยนะครับ

โรคซึมเศร้า คืออะไร
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่มีอาการเด่นในด้านอารมณ์ เช่น อารมณ์เศร้า และความเหนื่อยหน่าย ไม่มีความสุข ร่วมกับอาการอื่น ๆ ตามเกณฑ์วินิจฉับยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกาดังต่อไปนี้
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า มีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า ได้แก่
1. มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
7. รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควร
8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
* ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ
* ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่

โรคซึมเศร้า แตกต่างจากภาวะซึมเศร้าอย่างไร
คำว่า "โรค"บ่งว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลาต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวคลี่คลายลงหรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้ ถ้าเกิดการสูญเสีย ย่อมต้องมีภาวะซึมเศร้าเป็นธรรมดา ถ้าใครสูญเสียคนที่เป็นที่รัก เช่น คุณพ่อ คุณแม่ แล้วไม่เศร้าคงไม่ใช่คนปกติธรรมดาทั่วไป ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่างๆ แล้วการทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วยคนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรือมีงานบ้านคั่งค้างคนที่ทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อยๆ จนถูกเพ่งเล็งเรียกว่าตัวโรคทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันต่างๆ บกพร่องลง

คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นเป็นคนอ่อนแอ แกล้งเป็นเพื่อขอความเห็นใจ แต่เขาเป็นจริงๆ ทำให้ไม่มีแรง ไม่มีกำลังที่จะแก้ไขปัญหาได้ คนที่ไม่เป็นโรคอาจจะไม่เข้าใจผู้ป่วย หรืออาจเข้าใจในทางที่ผิดว่าทำไมแกล้งทำ เรื่องแค่นี้ไม่เห็นยากเลยที่จะแก้ปัญหา แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษา ได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้างก็จะมีอาการดีขึ้น และหายจากโรคได้

โรคซึมเศร้า พบได้มากน้อยแค่ไหน
จากการสำรวจที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า โอกาสที่จะพบคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีถึงร้อยละ 10-25 ในผู้หญิง และร้อยละ 5-12 ในผู้ชาย และในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งหมด สองในสามเคยพยายามทำร้ายร่างกายตัวเองมาก่อน และร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตเพราะทำร้ายตัวเองสำเร็จ จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่า โรคซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องเล็ก เรีองไกลตัวอีกแล้วนะครับ

โรคซึมเศร้า มีสาเหตุมาจากอะไร
สาเหตุภาวะซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุแต่ละสาเหตุจะมีผลกระทบซึ่งกันและกันสาเหตุของภาวะซึมเศร้าที่ได้มีการศึกษาค้นพบประกอบด้วย

1. สาเหตุทางพันธุกรรม พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆครั้ง และภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นครั้งแรกในวัยเด็กหรือวัยรุ่นการศึกษาเด็กที่พ่อแม่มีภาวะซึมเศร้าพบว่ามีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าสูงกว่าเด็กทั่วไปในทำนองเดียวกันการศึกษาญาติของเด็กที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าพบว่ามีอัตราการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงกว่าญาติของเด็กทั่วไป

2. สาเหตุทางสังคม ปัจจัยเสี่ยงทางจิตสังคมหลายอย่างเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะการเลี้ยงดูในวัยเด็ก การที่เด็กมีแม่ที่มีปัญหาทุกข์ใจเลี้ยงดูลูกได้ไม่ดีหรือมีครอบครัวที่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่เหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้นกะทันหัน เช่น การเสียชีวิตหรือการหย่าร้างของพ่อแม่และเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตที่เรื้อรัง เช่น การถูกกระทำทารุณทางร่างกายและทางเพศการถูกทอดทิ้ง

3. กลไกทางจิตใจ มีทฤษฏีหลายทฤษฏีที่พยายามอธิบายสาเหตุของภาวะซึมเศร้า เช่น ทฤษฎี learned helplessness ซึ่งอธิบายว่าการที่เราพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งรอบตัวที่ไม่ดีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จอาจทำให้ขาดแรงจูงใจ เฉยชา และซึมเศร้าได้ อีกทฤษฎีได้แก่ ทฤษฎีทางความคิดที่เป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าวคนที่มีความคิดในทางลบเกี่ยวกับตัวเอง โลก และอนาคตมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ากลไกทางจิตใจอื่นที่มีการศึกษาพบว่าเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้าในเด็ก ได้แก่ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไร้ความสามารถ และไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน
4. กลไกทางชีววิทยาการสังเกตยาที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและการค้นพบยาที่รักษาโรคซึมเศร้านำไปสู่สมมติฐานของสารสื่อประสาทในสมอง ที่ว่าภาวะซึมเศร้าเกิดจากสารดังกล่าวลดลงเป็นที่มาของคำว่าสารเคมีในสมองไม่สมดุล การรับประทานยาต้านซึมเศร้า ก็เพื่อไปปรับสารเคมีดังกล่าวให้กลับสู่ภาวะสมดุลได้อย่างรวดเร็วซึ่งสัมพันธ์กับกับอาการต่างๆที่ดีขึ้น เช่น อารมณ์ ความอยากอาหาร การนอนฯลฯ

โรคซึมเศร้า เป็นแล้วหายขาดได้หรือไม่ ปัจจุบันเชื่อว่าโรคซึมเศร้า เป็นโรคที่มีลักษณะเรื้อรังนั่นคือ หลังจากหายแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยมีการคาดการณ์จากองค์การอนามัยโลกว่า ในปี ค.ศ. 2020 โรคซึมเศร้า จะทำให้เกิดภาระต่อผู้ที่เจ็บป่วยและญาติ เช่น ต้องสูญเสียรายได้เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ การต้องได้รับการดูแลจากคนใกล้ชิด ก็ถือเป็นภาระของผู้ดูแล โดยเป็นโรคที่เป็นภาระรุนแรงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ จึงมีการพยายามรณรงค์ป้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำโดยการรับประทานยาตามกำหนดระยะเวลาที่แพทย์สั่งจะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ดีกว่าผู้ป่วยที่หยุดการรักษาเมื่อยังไม่ครบระยะเวลาในการรักษา

โรคซึมเศร้า รักษาอย่างไร
2 วิธีสำคัญ ได้แก่การรักษาด้วยยา และการทำจิตบำบัด โดยการรักษาที่ถูกต้องจะนำไปสู่การป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ดีกว่า
1. การรักษาด้วยยา จากการค้นพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีสารเคมีในสมองที่มีความผิดปกติไป และหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาแล้วเมื่อสารเคมีกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นำไปสู่อาการที่ดีขึ้น การรักษาด้วยยาจึงเป็นวิธีหลักที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ทุเลาจากอาการได้อย่างรวดเร็ว กว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยา

ในอดีต ยาที่ใช้ในการรักษามีผลข้างเคียงมาก ทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่ปัจจุบัน มียาที่ผลิตออกมาใหม่ที่มีผลข้างเคียงน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ผลการรักษาที่ดีกว่าสมัยก่อนมาก

การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า ก็เป็นอีกวิธีการรักษาที่ปลอดภัย และได้ผลดีในรายที่มีอาการรุนแรง มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองรุนแรง แต่ไม่เป็นที่นิยม ด้วยทัศนคติ ความกลัวว่าเป็นวิธีการที่อันตราย ซึ่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

2. การรักษาด้วยจิตบำบัด นอกเหนือจากการักษาด้วยยาแล้วการได้พูดคุยกับจิตแพทย์ก็ถือเป็นการรักษาอีกทางที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น การทำจิตบำบัดมีหลายแบบ อาจเป็นแค่การทำจิตบำบัดแบบประคับประคองอาการ หรือถึงขั้นการทำจิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่ทักษะการแก้ปัญหาที่ดี การมองโลกในแง่บวกและป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้

ดูแลจิตใจอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า หลังจากเรารู้จักโรคซึมเศร้ามากพอควรแล้ว หมอขอแนะนำ
9 วิธีดูแลจิตใจเพื่อให้ตัวเองห่างไกลจากการเป็นโรคซึมเศร้าให้มากที่สุด

1. รู้จักตัวเอง การรู้จักตัวเอง พูดง่ายแต่ทำยาก ต้องค้นให้เจอจริงๆ ว่าเราเป็นคนอย่างไร มีจุดอ่อน จุดแข็งในตัวเองอย่างไร มีความภาคภูมิใจอะไรบ้างในตัวเอง การที่เรายิ่งรู้จักตัวเองดีเท่าไร ก็จะทำให้เราหลีกเลี่ยงการเผชิญในสถานการณ์ที่จะทำให้เราผิดหวังเสียใจได้ หรือเตรียมรับมือกับมันได้
2. ศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดีทุกศาสนาล้วนสอนให้เราเป็นคนดี และสอนให้เรามีความสุข การมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจย่อมเป็นเครื่องป้องกันชิ้นดีที่จะทำให้เราปราศจากความทุกข์ได้
3. ครอบครัว คือ สิ่งที่รักเรามากที่สุด ไม่มีใครจะรักเราเท่ากับครอบครัวของเราอีกแล้ว โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ของเรา เวลาผิดหวังเสียใจ หลายๆคนทิ้งเราไป แต่ครอบครัวจะไม่มีทางทิ้งเราเสมอ เมื่อเรามีความสุข ก็อย่าลืมนึกถึง แบ่งปันความสุขให้ครอบครัวบ้าง
4. เพื่อน คำว่าเพื่อน ฟังแล้วอบอุ่นเสมอ คือคนที่เข้าใจเรา เป็นที่ปรับทุกข์ให้เราได้อีกทางนอกจากครอบครัว เมื่อเรามีความสุขดี แบ่งปันความสุขให้เพื่อนบ้าง อย่าเก็บไว้คนเดียว คบเพื่อนให้มากๆ อย่าแยกตัวอยู่คนเดียว
5. งานอดิเรก เป็นสิ่งจำเป็นทีเดียว หางานอดิเรกที่ตัวเองชอบ ทำแล้วมีความสุข หาเตรียมไว้ก่อน เวลาซึมเศร้า จะได้หยิบออกมาใช้ได้เลย ไม่ต้องไปหาอีก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นคอมพิวเตอร์ Internet เล่นดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ อ่านหนังสือ ฯลฯ เชื่อว่าต้องมีสักอย่างที่เราชอบบ้าง ลองหาดูครับ
6. ท่องเที่ยว พยายามรักษาสมดุลให้ตัวเอง หาเวลาไปท่องเที่ยวให้สม่ำเสมอ แล้วแต่ความพร้อม เช่น อย่างน้อยเดือนละครั้ง เข้าหาธรรมชาติ ทะเล น้ำตก ภูเขา ฯลฯ
7. กีฬา กีฬา คือยาวิเศษเป็นคำพูดที่ดีมากๆ ลองหาสักอย่าง ที่ตนเองชอบ นอกจากสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังอาจได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมาอีก เล่นไม่ได้ ได้ดูได้ติดตามก็ยังดี เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ปิงปอง แบดมินตัน เทนนิส กอล์ฟ ดำน้ำ ว่ายน้ำ ขึ่ม้า ยิงปืน ฯลฯ
8. อาหาร รับประทานที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เป็นประโยชน์แล้วยังเป็นโทษ เช่น แอลกฮอล์การได้รับประทานอาหารดีดี อาหารที่ชอบ ทำให้เกิดความสุขได้เช่นกัน
9. การนอน คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุด หากมีปัญหา ไม่รู้จะแก้อย่างไร ก็นอนไปก่อน จะหลับหรือไม่หลับก็ช่างมัน พักสมองเตรียมตัวไว้ให้พร้อม วันพรุ่งนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป อะไรอะไรอาจดีขึ้นแล้วก็ได้ ใครจะไปรู้

สุดท้าย ถ้าเรารู้ทันและรู้วิธีป้องกันโรคซึมเศร้าแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านให้นำไปใช้ไม่มากก็น้อยต่อไปครับ

นพ.วิทยา วันเพ็ญ
จิตแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า

credit : pooyingnaka.com